ทางรถไฟสายมรณะ
ทางรถไฟสายมรณะ สายนี้เริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่เมืองตันบูซายัด ประเทศพม่า รวมระยะทางในเขตประเทศไทย 300 กิโลเมตร ใช้เวลาในการสร้างเสร็จเพียง 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า หลังสงครามทางรถไฟบางส่วนถูกเลาะทิ้ง บางส่วนจมอยู่ใต้ทะเลสาบเขื่อนเขาแหลม ทางรถไฟสายนี้ถือเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงเหตุการณ์สงครามในครั้งนั้นจากน้ำพักน้ำแรงของการบุกเบิกก่อสร้างของทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มา ทิวทัศน์ตลอดเส้นทางนี้สวยงามมาก โดยเฉพาะบริเวณถ้ำกระแซ ที่เส้นทางรถไฟจะลัดเลาะไปตามเชิงผาเลียบไปกับลำน้ำแควน้อย ปัจจุบันทางรถไฟสายนี้สุดปลายทางที่บ้านท่าเสาหรือสถานีน้ำตก ระยะทางจากสถานีกาญจนบุรีถึงสถานีน้ำตกเป็นระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบริการเดินรถบนเส้นทางสายนี้ทุกวัน และจัดรถไฟขบวนพิเศษสายกรุงเทพฯ - น้ำตก ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010, 223-7020 หรือ 1690
ความเป็นมา อันเป็นตำนาน ของ สะพานมรณะแห่งนี้ เดิมทีอังกฤษมีโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างเอง โดยได้สำรวจเส้นทางและคำนวณระยะเวลาไว้ว่า กว่าจะสร้างเสร็จประมาณ 5 - 10 ปี เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าดงดิบมีอันตรายมากทั้งสัตว์ป่า และโรคภัยต่างๆ จึงคาดการณ์เอาไว้ว่าการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้คงไม่มีทางสำเร็จได้ จึงยุติโครงการนี้ไว้ก่อน แต่ระหว่างที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นมีความจำเป็นที่ต้องลำเลียงยุทธสัมภาระเข้าไปในประเทศพม่า เพื่อขนไปยังประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน และใช้แรงงานกรรมกรที่เป็นแขก พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน รวมทั้งชาวไทย แต่ประสบกับอุปสรรคปัญหามากมาย เช่น ฝนตกสะพานพัง โรคภัยไข้เจ็บ ขาดเสบียงอาหาร ตลอดจนถูกฝ่ายพันธมิตรทิ้งระเบิด เพื่อทำลายทางรถไฟ ทำให้กรรมกรเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก กองทัพทหารญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนแผนการ ทำงานใหม่ โดยเกณฑ์แรงงานจากเชลยศึกที่เป็นชาวอังกฤษออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ ประมาณ 50,000 คน ทำการก่อสร้างทาง ต่อไปจนแล้วเสร็จ รวมระยะเวลาที่ทำการก่อสร้างทั้งหมดเพียง 10 เดือนเท่านั้น ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานข้ามแม่น้ำแคว ”
ความสำเร็จในการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ สร้างความปีติยินดีให้กับกองทัพญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ต้องสูญเสียเป็น จำนวนมหาศาลอย่างประมาณค่าไม่ได้ คือ ชีวิตของแรงงาน กองทัพญี่ปุ่น กรรมกร และเชลยฝ่ายสัมพันธมิตร จนมีคำกล่าวถึงเหตุการณ์การสร้างเส้นทางนี้ว่า “ หนึ่งหมอนรถไฟต่อหนึ่งชีวิต ”
เส้นทางรถไฟสายนี้จึงถูกขนานนามว่า ทางรถไฟสายมรณะ คนทั่วไปสามารถเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวนี้ได้หลายแห่งตลอดเส้นทางที่รถไฟผ่าน อาทิ ช่องเขาขาด เป็นตัวอย่างการขุดเจาะอุโมงค์ แรงงานส่วนใหญ่ คือ เชลยศึกชาวออสเตรเลีย ซึ่งต้องเสียชีวิตไประหว่างปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 700 ศพ มีชื่อเรียกน่าสะพรึงกลัวว่า “ช่องไฟนรก” (Hellfire Pass Memorial) เนื่องจากว่าแรงงานเหล่านี้ต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน อาศัยแสงสว่างจากคบเพลิงไม้ไผ่ เล่ากันว่าหากมองลงมาจาก ที่สูงจะเห็นเหมือนกับเป็นแสงสว่างจากนรกจริงๆ