รณรงค์การคัดแยกขยะให้ถูกวิธี
20 ตุลาคม 2566ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง
รณรงค์การคัดแยกขยะให้ถูกวิธี
การคัดแยกขยะให้ถูกวิธี
ถังขยะมี 4 ประเภท ดังนี้
ถังขยะสีเขียว
สำหรับทิ้งขยะอินทรีย์ ขยะเปียก ขยะเน่าง่าย ย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้ มูลสัตว์ กิ่งไม้และเศษไม้
แนวทางการคัดแยก :
- แยกทิ้งเศษอาหารออกจากขยะประเภทกิ่งไม้และเศษไม้ เพราะสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักต่อได้
- บรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะ ป้องกันการเกิดแหล่งเชื้อโรค
ถังขยะสีเหลือง
สำหรับทิ้งขยะรีไซเคิล หรือขยะที่สามารถนำไปขายหรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น กระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และกระป๋องเครื่องดื่ม
แนวทางการคัดแยก :
- แยกขยะตามสี ชนิด และประเภทของขยะรีไซเคิล เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน
- แยกขยะรีไซเคิลที่เสียหายและขยะสภาพดีออกจากกัน
ถังขยะสีน้ำเงิน
สำหรับทิ้งขยะทั่วไป ประเภทขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือไม่คุ้มที่จะนำกลับมารีไซเคิลใหม่ เช่น พลาสติกห่อขนม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หลอดกาแฟ กล่องโฟม
แนวทางการคัดแยก :
- แยกขยะออกมาให้ชัดเจน ไม่ทิ้งปะปนกับเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล เพื่อให้ง่ายต่อการนำกลับไปใช้
- ขยะที่มีลักษณะแหลม เช่น ไม้ลูกชิ้น ควรหักปลายแหลมก่อนทิ้ง
ถังขยะสีแดง
สำหรับทิ้งขยะอันตราย โดยสังเกตได้จากฉลากบนบรรจุภัณฑ์ หากมีคำว่า สารไวไฟ สารมีพิษ หรือสารกัดกร่อน ก็จัดอยู่ในขยะประเภทนี้ทั้งหมด เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ กระป๋องสเปรย์ ขวดยาฆ่าแมลง
แนวทางการคัดแยก :
- ไม่ทิ้งรวมในถุงเดียวกัน ควรแยกขยะอันตรายแต่ละประเภทออกจากกัน และวางให้พ้นมือเด็กและห่างจากห้องครัว
- ควรระวังไม่ให้ขยะอันตรายแตกหัก และสวมถุงมือขณะคัดแยกทุกครั้ง ป้องกันสารพิษเข้าสู่ร่างกาย
วิธีการกำจัดขยะ
การกำจัดขยะไม่ให้มี คงกำจัดไม่ได้ เพราะในชีวิตประจำวันเราต้องใช้สิ่งของที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค จึงจำเป็นต้องมีของเหลือทิ้ง
วิธีที่จะทำให้ขยะไม่เป็นปัญหากับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ก็คือการลดปริมาณขยะ
การทำให้ปริมาณขยะที่จะทิ้งลดลง อาจโดยการนำสิ่งที่เป็นขยะนั้นกลับมาใช้ประโยชน์อีกหรือการลดปริมาณการใช้
และให้เหลือสิ่งที่จะทิ้งเป็นขยะจริงเพียงเท่าที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อื่นใดได้อีก ดังนี้
1. การลดการใช้ หรือการลดขยะจากแหล่งที่เกิด โดยพยายามหลีกเลี่ยงหรือลดการเกิดขยะหรือมลพิษที่เกิดขึ้น เช่นการใช้ถุงผ้าแทน
การใช้ถุงพลาสติก
2. การนำผลิตภัณฑ์มาใช้ซ้ำ เป็นการนำวัสดุของใช้กลับมาใช้ในรูปแบบเดิมหรือนำมาซ่อมแซมใช้ หรือนำมาใช้ทำประโยชน์อื่น ๆ โดยแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนคือ
- ขั้นตอนการผลิตสินค้า พยายามทำให้เกิดเศษวัสดุหรือของเสียน้อยที่สุด
- ขั้นตอนการนำของใช้มาใช้ซ้ำ เป็นการยืดอายุการใช้งานก่อนจะนำไปทิ้ง เช่น การนำขวดพลาสติกมาบรรจุน้ำ การใช้กระดาษ 2 หน้า
3. การนำกลับมาผลิตใหม่ เป็นการแยกวัสดุที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ออกจากขยะและรวบรวมใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าขึ้นใหม่หรือเรียกว่า รีไซเคิล
4. การหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุกำจัดยาก เช่น กล่องโฟม การใช้จานหรือแก้วกระดาษ ยาฆ่าแมลง ควรใช้สมุนไพรเป็นสารกำจัด
5. การซ่อมแซมนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการซ่อมแซมวัสดุที่ใช้แล้ว ที่สามารถซ่อมแซมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น การซ่อมแซมเสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด เป็นต้น